เกี่ยวกับเรา

    

    

ทรัพยากรสารสนเทศ

       

เอกสารโบราณ (Ancient Collections)
     เป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ และให้บริการเอกสารโบราณประเภทจารึก หนังสือสมุดไทย คัมภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมสะท้อนภูมิปัญญาในการบันทึก สรรพวิทยาการของบรรพชนไทย 

หนังสือหายาก (Rare Books)
     หนังสือและเอกสารที่มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาและด้านการพิมพ์ ผู้ค้นคว้าไม่สามารถหาได้จากห้องสมุดทั่วไป และไม่มีจำหน่วยในท้องตลาด ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติ เก็บรักษาหนังสือหายากที่มีคุณค่าไว้เป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ ที่ผ่านขั้นตอนการดำเนินการตามหลักวิชาบรรณารักษศาสตร์แล้ว จำนวนมากกว่า 50,000 เล่ม ประกอบด้วยพระราชนิพนธ์, พระนิพนธ์, หนังสือส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ เอกสาร ต้นฉบับตัวเขียน หนังสือที่พิมพ์ในระยะเริ่มแรก หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก และพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือที่มีความโดดเด่น มีรูปเล่มสวยงามและมีภาพประกอบที่ทรงคุณค่า เป็นต้น นอกจากนั้นยังนับรวมถึงหนังสือใหม่ที่พิจารณาแล้วว่าจะเป็นหนังสือพิเศษที่หาได้ยากในอนาคตอีกด้วย

ทรัพยากรสารสนเทศจีน (Chinese Collections)
     หอสมุดแห่งชาติจัดเก็บและรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกปัจจุบันและมีแนวโน้มจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต หอสมุดแห่งชาติจึงจัดห้องบริการทรัพยากรสารสนเทศภาษาจีนให้มีรูปแบบการให้ บริการที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลสารสนเทศภาษาจีนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตรงตามความต้องการและประสานความร่วมมือ เครือข่ายในการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างห้องสมุดในประเทศและต่างประเทศ ที่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศภาษาจีน

ทรัพยากรสารสนเทศด้านดนตรี (Music Collections)
     หอสมุดแห่งชาติรวบรวมและอนุรักษ์ต้นฉบับเพลงไทยและเพลงสากลไว้เป็นมรดก สมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนเป็นศูนย์ค้นคว้าวิชาการทางด้านดนตรี อันจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนและเยาวชนของชาติในการศึกษาค้นคว้าเรื่องดนตรีไทยและดนตรีสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงพระราชนิพนธ์ และพระราชกรณียกิจด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทุกรูปแบบทั้งในลักษณะของสื่อโสตทัศน์ หนังสือ เอกสารและโน้ตเพลง

การพัฒนาหอสมุดแห่งชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย
     เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารและโทรคมนาคม (ยุคดิจิทัล) การไร้พรมแดนของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนต้องมีการพัฒนาตนเองให้มีความรอบรู้ สามารถอยู่ในระบบการแข่งขันของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มีความคาดหวังที่จะได้รับการบริการข้อมูลสารสนเทศที่ดีจากหน่วยงานของรัฐ หอสมุดแห่งชาติจึงจำเป็นต้องปรับปรุงการบริหารจัดการใหม่ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ “แผนพัฒนาหอสมุดแห่งชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย” และงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติหลังใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550  เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับการบริการข้อมูลสารสนเทศที่ดี  ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้หอสมุดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีคุณภาพ สนองตอบการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดหมวดหมู่หนังสือเพื่อการบริการ
     หอสมุดแห่งชาติมีหนังสือให้บริการที่ทันสมัยเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านเล่ม และจัดหมวดหมู่ดังกล่าวด้วยระบบการจัดหมวดหมู่สากลที่เรียกว่า ระบบ Dewey Decimal Classification นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ประสานงานกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นทางด้านห้องสมุด และบรรณารักษศาสตร์