พิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงาน โครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากร
วันที่เผยแพร่ : 15 March 2023
วันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวส่งมอบผลงานโครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากรเพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร โดยถวายคัมภีร์ใบลานที่ได้รับการอนุรักษ์แล้ว พร้อมหนังสือบัญชีทะเบียนเอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร แด่เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่ภาคีเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ ณ วัดเบญจมบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพฯ
อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า โครงการความร่วมมือระหว่างวัดเบญจมบพิตรกับกรมศิลปากรเพื่อเผยแพร่ผลงานการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณวัดเบญจมบพิตร ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ รวมระยะเวลา ๕ เดือน ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์ ได้บูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร คณะสงฆ์ และประชาชน สร้างการรับรู้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) รุ่นแรกในส่วนกลาง ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกของการสร้างเครือข่ายดูแลรักษาเอกสารโบราณให้ขยายวงกว้างออกไป โดยการดำเนินการดังกล่าวสอดรับพันธกิจกรมศิลปากรที่ต้องธำรงรักษา อนุรักษ์ สืบสาน มรดกทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่สืบไป ความสำเร็จของการดำเนินงานครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความมั่นใจในการเป็นผู้นำการอนุรักษ์ให้กับประชาชน และสร้างการรับรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดเอกสารโบราณ โดยมีวัดเป็นแหล่งเอกสารโบราณ และคณะสงฆ์เป็นผู้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไว้ สรุปผลความสำเร็จของการดำเนินงานได้ ดังนี้
๑. กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์จัดทำทะเบียนเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นการจัดระบบเอกสารโบราณ เพื่อให้บริการตามหลักวิชาการ ดำเนินการออกเลขทะเบียนบัญชีรายชื่อเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน จำนวนมากถึง ๔๒๕ มัด ออกรหัสเลขที่ได้ ๗๑๙ เลขที่ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๖,๒๗๕ ผูก และเอกสารโบราณ ประเภทหนังสือสมุดไทย จำนวน ๖ เล่ม ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเอกสารโบราณกลางกรุงที่ใหญ่มาก และได้รับการพัฒนาไปสู่แหล่งเรียนรู้อีกระดับหนึ่ง
๒. ความสำคัญของเอกสารโบราณเหล่านี้ไม่แพ้ความสำคัญของวัด โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานมีการสืบสายธารแห่งประวัติศาสตร์ไม่ขาดสาย ถึง ๓ สมัย ได้แก่ คัมภีร์ใบลานสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ผูก และพบคัมภีร์ที่เก่าแก่แต่ละสมัย ดังนี้ สมัยอยุธยา ได้แก่ วบจ.๒๒-๒๕ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๒-๒๕) เรื่อง วิมติวิโนทนี วินยฎีกา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาทอง พ.ศ.๒๑๘๖ อายุ ๓๘๐ ปี สมัยธนบุรี ได้แก่ วบจ.๓๓๘ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๓๓๘) เรื่อง สารสังคหะ สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๒๐ อายุ ๒๔๖ ปี สมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ วบจ.๒๗๑ (วัดเบญจมบพิตร เลขที่ ๒๗๑) เรื่อง ธรรมบทอัฏฐกถา สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.๑) พ.ศ.๒๓๒๘ อายุ ๒๓๘ ปี
๓. พบคัมภีร์ใบลานสมัยรัตนโกสินทร์ที่สืบต่อกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๖ ทำให้เห็นว่าวัดเบญจมบพิตรเป็นแหล่งเอกสารโบราณที่สามารถศึกษาเปรียบเทียบยุคสมัยของตัวอักษรแต่ละรัชกาลได้ในแหล่ง เอกสารเดียวกัน พร้อมกันนี้ยังศึกษาประวัติศาสตร์การสร้างคัมภีร์ถวายในพระพุทธศาสนาในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ใบลานสู่กระดาษแบบฝรั่ง
๔. สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎก ฉบับพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากนั้นจึงไม่มีการผลิตซ้ำทำเพิ่มคัมภีร์ใบลาน แต่ในความเป็นจริง คัมภีร์ใบลานยังคงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สร้างคัมภีร์ใบลานถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และเจาะจงสร้างถวายเป็นการเฉพาะสำหรับวัดเบญจมบพิตร อีกด้วย ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ใบลาน เลขที่ ๕๒๔ เรื่อง เวสสันตรชาตกกถาก พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุ ๑๐๕ ปี
๕. ข้อสันนิษฐาน คัมภีร์ใบลาน เลขที่ วบจ.๑๖๑ เรื่อง มังคลัตถทีปนี ใช้นามผู้สร้างว่า “เจ้าทับ” พ.ศ. ๒๓๘๖ อายุ ๑๘๐ ปี ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสอดคล้องกับพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานว่า ร.๓ สร้างเป็นการส่วนพระองค์จึงให้ชื่อว่า “เจ้าทับ” ตามพระนามเดิมของพระองค์ ไม่ประทับตราพระราชลัญจกร
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้มรดกภูมิปัญญาและแหล่งศึกษาเรียนรู้นี้มีประโยชน์และทรงคุณค่าต่อไป คือการเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ผู้สนใจและใฝ่รู้ทั้งหลายได้หันมามองสิ่งอันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ย่อมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย ดังคำกล่าวที่ว่าวัฒนธรรมสร้างชาตินั่นเอง